Sunday, July 25, 2010

เซี่ยงซือหวา - กู่เจิง



กู่เจิง
กู่เจิงมีประวัติความเป็นมายาวนาน ตามหลักฐานในสมัยชุนชิว (ก่อน ค.. 770 – 221)
กู่เจิงเริ่มแพร่หลายในรัฐฉินแล้ว กู่เจิงลักษณะเป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว มีหลายขนาด มีตั้งแต่ขนาด 14 – 26 สาย กู่เจิงมี จู้ หรือหย่องรองสายคล้ายนมของจะเข้ แต่ว่าไม่ได้ติดแน่นเหมือนนมของจะเข้ สามารถจะขยับหรือเคลื่อนที่เพื่อปรับเสียงได้ แต่นมของจะเข้จะติดแน่น และนม 1 อันจะพาดทั้งสาย 3 สาย แต่หย่องของกู่เจิง 1 อัน จะพาดเพียง 1 สายเท่านั้น


วิธีดีดกู่เจิง อาจจะดีดด้วยเล็บเทียมที่ทำจากกระ หรือพลาสติก บางคนก็อาจจะไว้เล็บ แล้วดีดด้วยเล็บของผู้ดีดเอง กู่เจิงมีวิธีการดีดมากมาย มีทั้งรัว ดีดทีละสาย และดีดหลายสายต่อเนื่องกัน


กู่เจิงมีเสียงดัง กังวาน ใสเป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้าน และมักจะนำไปผสมกับวงเครื่องสายในถิ่นต่าง ๆ ของจีน ปัจจุบันมีผู้นำมาบรรเลงในวงเครื่องสายไทยด้วย

อาจารย์เซี่ยงซือหวา นักกู่เจิง เกิดเมื่อปีค.ศ. 1939 ที่เซี่ยงไฮ้ ตอนเด็กเริ่มเรียนเปียโน ปี1956 เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมของวิทยาลัยดนตรีเซี่ยงไฮ้ ต่อมาเปลี่ยนมาเรียนกู่เจิง และได้เรียนกับอาจารย์กู่เจิงที่มีชื่อเสียงหลายท่าน หลายสำนัก หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยดนตรีเซี่ยงไฮ้ ทำงานเป็นนักดนตรีบรรเลงเดี่ยวกู่เจิงที่ 北京电影乐团,上海乐团 และ 中国歌剧舞剧院 และสอนกู่เจิงที่ 中央音乐学院 และ 中国音乐学院


ปี 1981 ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ฮ่องกง และสอนที่ 香港中文大学 และ 香港演艺学院

ปี 1993 ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่แวนคูเว่อร์ ประเทศแคนาดา

Tuesday, July 20, 2010

เซิ่งจงกว๋อ - ไวโอลิน


อาจารย์เซิ่งจงกว๋อ นักไวโอลินฝีมือระดับหนึ่งของประเทศจีน

เกิดปี 1941 ที่เมืองฉงชิ่ง เรียนไวโอลินกับคุณพ่อตั้งแต่อายุ 5 ขวบ

อายุ 7 ขวบ ขึ้นเวทีแสดงการเดี่ยวไวโอลิน

ปี 1960 ไปเรียนดนตรีที่สถาบันการดนตรีไชคอฟสกี้ ที่มอสโค ประเทศรัสเซีย

ผลงานที่มีชื่อเสียงคือ 《梁祝》

หรือ The Butterfly Lovers' Violin Concerto






Friday, July 16, 2010

พิณสายร่าย ลำนำ: กู่ฉินในวรรณคดีจีน


บทความนี้ตีพิมพ์ใน วารสาร อักษรศาสตร์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม  ธันวาคม 2546) : 138  181.


ดนตรีในวัฒนธรรมจีนโบราณ

สังคมจีนโบราณมีความเห็นต่อดนตรีต่างกันไป มีทั้งที่ให้ความสำคัญและไม่เห็นความสำคัญของดนตรี ดังนี้

ในวงการปรัชญาจีน ขงจื่อ (孔子) (ปีที่ 551-479 ก่อนคริสต์ศักราช) นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของจีนให้ความสำคัญต่อดนตรีมาก ความคิดเกี่ยวกับการศึกษาของขงจื่อเน้นเรื่องคุณธรรมและสุนทรียศาสตร์ สิ่งที่ขงจื่อสอนก็คือ ศิลปศาสตร์ 6 (六藝) ศาสตร์ทั้ง 6 ที่บุคคลพึงศึกษา ได้แก่ จารีต () ดนตรี () การยิงธนู () ศาสตร์แห่งการควบคุมรถศึก () อักษรศาสตร์ () คณิตศาสตร์ () การดนตรีมีความสำคัญเป็นอันดับที่สองรองจากจารีต นับว่าขงจื่อเน้นความสำคัญของดนตรี รองลงมาจากจารีต หรือระเบียบของการอยู่ร่วมกันในสังคม ขงจื่อเรียนและบรรเลงกู่ฉินเครื่องดนตรีชนิดนี้ด้วย ส่วนมั่วจื่อ (墨子) (ปีที่ 468-376 ก่อนคริสต์ศักราช) เห็นว่าชนชั้นปกครองหากฟังดนตรีแล้ว จะทำให้ประเทศชาติวุ่นวาย สังคมมีอันตราย และยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของประชาชน หรือชนชั้นแรงงาน เช่น ชาวนา กรรมกร หรือแม้แต่ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน มั่วจื่อเห็นว่าดนตรีไม่มีประโยชน์ต่อสังคม หรือประชาชนทุกชนชั้น อีกทั้งยังมีโทษ สิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทอง และเสียเวลา
ในวงการวรรณคดีจีน สำหรับกวีผู้สร้างสรรค์ผลงานวรรณคดี เห็นว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต กวีจีนส่วนใหญ่จะเรียนและเล่นดนตรีเป็น โดยเฉพาะกู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่กวีหรือปัญญาชนผู้มีความรู้นิยมเล่นกันมาก เช่น เถายวนหมิง จีคัง หลีป๋าย ซูตงปัว เป็นต้น
ในภาษาจีนมีสำนวนว่า ฉิน หมากล้อม หนังสือ วาดภาพ (琴棋書畫) ซึ่งเป็นความสามารถที่บุคคลที่มีความรู้ หรือปัญญาชนพึงรู้พึงศึกษา ฉิน ในที่นี้หมายถึง กู่ฉิน (หรือในสมัยปัจจุบันหมายถึง ดนตรีทั่วไป) จะเห็นได้ว่า ฉิน
(กู่ฉิน) หรือดนตรีในความคิดของชาวบ้านทั่วไปเห็นว่า ดนตรีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกที่ปัญญาชนพึงศึกษา คนจีนเชื่อว่าดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจ และยกระดับจิตใจคนได้
กู่ฉินในวัฒนธรรมจีนโบราณ
นักวิชาการจีนวิเคราะห์ตัวอักษรจีนบนกระดองเต่า (甲骨文) พบว่าคำว่า ดนตรี () ในสมัยโบราณเขียนโดยมีส่วนประกอบดังนี้ คือ ด้านบนเป็น คำว่า ไหม () ส่วนด้านล่างเป็นคำว่า ไม้ () ซึ่งเป็นลักษณะของกู่ฉินและเส้อ เพราะลำตัวของ กู่ฉิน และเส้อ ทำด้วยไม้ ส่วนสายทำมาจากเส้นไหม อยู่ด้านบนของลำตัว แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่โบราณ

ก่อนที่จะมีการบันทึกอักษรจีนบนกระดองเต่าก็มีเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว

หนังสือจีนสมัยโบราณ และสมัยใหม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกู่ฉินมากมาย ในที่นี้จะยกข้อความจากหนังสือของสมัยต่างๆ ที่มีการกล่าวถึงความสำคัญ และคุณประโยชน์ของกู่ฉินเครื่องดนตรีชนิดนี้
ในสมัยชุนชิวจ้านกว๋อ (ค.ศ. 770-221 ก่อนคริสต์ศักราช) หนังสือ จั่วจ้วน (左傳) กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการฟังกู่ฉินไว้ว่า
君子聽之,以平其心,心平德和。
ฟังกู่ฉินแล้ว จิตใจสงบ คุณธรรมถึงพร้อม
ในสมัยราชวงศ์เว่ย (ค.ศ. 220 – ค.ศ. 265) จีคัง (嵇康) (ค.ศ. 223 – ค.ศ. 263) กวีชื่อดังในกลุ่มเจ็ดเมธีแห่งป่าไผ่ ( 竹林七賢 ) เขียนในบทนำของฉินฟู่ (琴賦) ว่า
眾器之中,琴德最優。
ในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหลาย ฉินมีคุณสมบัติเป็นเลิศ
ในหนังสือและตำราเกี่ยวกับดนตรีจียสมัยใหม่ก็ยังมีการกล่าวถึงความสำคัญของกู่ฉินไว้ด้วย เช่น ในหนังสือ เล่าเรื่องประวัติดนตรีจีน (中國音樂史話) ของหลิวไจ้เชิง (劉再生) กล่าวถึงกู่ฉินในแง่ประวัติศาสตร์ว่า
從歷史的角度來看,在世界所有的音樂中,中國的古琴猶如人類的“長壽之王”,能夠講述最遙遠的往事,吟唱最古老的歌曲。
พิจารณาดูในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว ในบรรดาเครื่องดนตรีในโลกทั้งหมด กู่ฉินของจีนเปรียบดังมนุษย์ที่ทรงเป็นพระราชาผู้ทรงพระชนม์ยืนยาวสามารถเล่าเรื่องราวในอดีตที่เก่าแก่ และขับร้องเพลงที่เก่าและโบราณที่สุดด้วย
จะเห็นได้ว่า กู่ฉินในวัฒนธรรมจีน มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ กู่ฉินมีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีนมาทุกยุคทุกสมัย
กู่ฉินในผลงานวรรณคดีจีน

การศึกษากู่ฉินในวรรณคดีจีน แบ่งตามระยะเวลาได้ 4 ยุคดังนี้

ก.ยุคแรก สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน ( ? - ปีที่ 221 ก่อนคริสต์ศักราช) ในช่วงก่อนราชวงศ์ฉินหลังจากที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จากหลักฐานที่บันทึกไว้ทำให้ทราบว่า การดนตรีของจีนมีการศึกษา และมีพัฒนาการขึ้นมาก มีการจำแนกเครื่องดนตรี โดยพิจารณาจากวัสดุที่นำมาทำเป็นเครื่องดนตรี ในภาษาจีนเรียกว่า ปาอิน (八音) แปลว่า แปดเสียง ได้แก่ โลหะ() หิน () ไหม () ไม้ไผ่ () เปลือกของผลน้ำเต้า () ดิน () หนังสัตว์ () และไม้ () สำหรับกู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีประเภทไหมและไม้
ในยุคแรกที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร กู่ฉินและเส้อ เป็นเครื่องดนตรีจีนที่สำคัญเป็นที่นิยมบรรเลงในการประกอบการขับร้องในงานเลี้ยงของราชสำนัก ชนชั้นผู้ปกครอง หรือในพิธีต่างๆ เช่น การบวงสรวงเทพเจ้า
วรรณคดียุคแรกที่มีเนื้อหากล่าวถึงกู่ฉิน ได้แก่ ซือจิง (詩經) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมบทกวีจีนโบราณเล่มแรกในประวัติวรรณคดีจีน เป็นบทกวีที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก บทกวีที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด คือ เฟิง () หญ่า () และซ่ง () ในสมัยชุนชิว (ปีที่ 770 – 221 ก่อนคริสต์ศักราช) ขงจื่อนำบทกวีต่างๆ ที่แพร่หลายในสมัยนั้นทั้งหมดมารวบรวมไว้ด้วยกัน แล้วตัดทอนให้เหลือบทกวีเพียง 305 บท เรียกว่า ซือจิง แล้วแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เฟิง เป็นบทเพลงพื้นบ้าน ส่วนที่สองคือ หญ่า เป็นบทกวีที่ชนชั้นสูง ชนชั้นผู้ปกครองหรือผู้มีความรู้ดัดแปลงและเรียบเรียงมาจากบทเพลงพื้นบ้าน ส่วนที่สามคือ ซ่ง เป็นบทเพลงที่ใช้ในพิธีบวงสรวง
บทกวีเฟิงและหญ่าใช้ขับร้องในงานเลี้ยงของราชสำนักและงานเลี้ยงชนชั้นผู้ปกครองระดับสูง โดยมีกู่ฉินและเส้อบรรเลงประกอบการขับร้องบทกวีซ่งใช้เส้อบรรเลงประกอบการขับร้อง บางครั้งอาจมีกู่ฉินบรรเลงร่วมด้วยหรืออาจมีการเต้นรำประกอบการขับร้อง ใน ซือจิง มีบทกวีหลายบทกล่าวถึงกู่ฉิน เช่น
我有嘉賓,鼓瑟鼓琴。
เมื่อมีแขกผู้มีเกียรติมา บรรเลงเส้อบรรเลงฉินต้อนรับ
ในสมัยจ้านกว๋อตอนปลายหนังสือ หลี่ว์ซื่อชุนชิว (呂氏春秋) เป็นหนังสือเล่มแรกที่ใช้คำว่า ดนตรี (音樂) และได้มีการบันทึกเรื่องเกี่ยวกับกู่ฉินไว้ดังนี้
伯牙鼓琴,鐘子期聽之。方鼓琴而志在泰山,鐘子期曰:“善哉乎鼓琴,巍巍乎若泰山。”少選之間而志在流水,鐘子期又曰:“善哉乎鼓琴,湯湯若流水。
โป๋หยาดีดฉินให้จงจื่อฉีฟัง ขณะที่ดีดฉินจิตก็นึกถึงภูเขาไท่ซาน จงจื่อฉีก็กล่าวว่า ประเสริฐแท้ ดีดฉินได้ดุจดั่งภูเขาไท่ซาน ชั่วครู่โป๋หยาก็ตั้งจิตที่สายน้ำไหล จงจื่อฉีก็กล่าวอีกว่า ประเสริฐยิ่ง บรรเลงเพลงฉินได้ดุจดั่งสายน้ำไหล
ข. ยุคกลาง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน - ฮั่น จนถึงสมัยเว่ยจิ้นหนาน เป่ยฉาว (ปีที่ 221 ก่อนคริสต์ศักราช ค.ศ. 589) ในยุคนี้การดนตรีของจีนเริ่มเจริญรุ่งเรืองและพัฒนา และเนื่องจากยุคนี้มีการติดต่อกับต่างประเทศแล้วมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศด้วย เริ่มมีการนำเครื่องดนตรีจากต่างประเทศมาบรรเลง เช่น ผีผา ซอ (หูฉิน) เป็นต้น เครื่องสายใช้ดีดของจีนมีการพัฒนาและเริ่มนิยมแพร่หลายมาก
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ปีที่ 206 ก่อนคริสต์ศักราช ค.ศ. 220) ผลงานวรรณคดีที่มีการกล่าวถึงกู่ฉิน ได้แก่ ฉินฟู่ (琴賦) ประพันธ์ โดย ไช่หย่ง (蔡邕) (ค.ศ. 132–192) ซึ่งเป็นนักดีดฉินที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ดังนี้
仲尼思歸,鹿鳴三章。梁浦悲吟,周公越裳。
青雀西飛,別鶴東翔。飲馬長城,楚曲明光。
楚姬遺嘆,雞鳴高桑。走獸率舞,飛鳥下翔。
感激弦歌,一低一昂。
ขงจื่อคิดถึงบ้าน ดีดเพลงลู่หมิงสามเที่ยว
เพลงเหลียวผู่อิ้นที่โจวกงบรรเลง
นกเชิงเชวี่ยบินไปทางตะวันตก
นกกระเรียนจากไปทางตะวันออก
เพลงอิ้นหม่าฉางเฉิง เพลงรัฐฉู่
เพลงสนมจีแห่งรัฐฉู่ เพลงไก่ขันต้นหม่อนสูง
สัตว์ที่เดินอยู่ต่างเต้นรำ ฝูงนกที่บินอยู่ถลาลงฟัง
ซึ้งในเสียงเพลง เคลื่อนไหวเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ
บทกวีของไช่เหวินจี (蔡文姬) (ค.ศ. 177 - ?) ซึ่งเป็นลูกสายของไช่หย่ง บทที่ชื่อว่า หูเจียสิบแปดท่อน (胡茄十八拍) ในที่นี้จะยกตัวอย่างในท่อนที่ห้ามีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ดังนี้
雁南征兮欲寄邊聲,雁北歸兮欲得漢音。
雁高飛兮邈難尋,空斷陽兮思愔愔。
攢眉向月兮撫雅琴,五拍冷冷兮意彌深。
ห่านป่าบินลงใต้อยากส่งข่าวจากชายแดน
ห่านป่าบินกลับเหนืออยากทราบข่าวของเมืองฮั่น
ห่านป่าบินสูงยากจะหาเจอ เศร้าใจเปล่าคิดถึงจนพูดไม่ออก
ขมวดคิ้วมองจันทร์แล้วดีดฉิน หลิงหลิงท่อนห้าความคิดถึงยิ่งมาก
ในสมัยราชวงศ์เว่ย (ค.ศ. 220 – 263 ) วรรณคดีที่มีการกล่าวถึงกู่ฉินได้แก่ คิดคำนึง (永懷) ประพันธ์โดย หร่วนจี๋ (阮籍) (ค.ศ. 210 – 263) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ็ดเมธีแห่งป่าไผ่
夜中不能寐,起坐彈鳴琴。薄帷鑒明月,清風吹我襟。
孤鴻號外野,翔鳥鳴北林。徘徊將何見,憂思獨傷心。
กลางดึกนอนไม่หลับ ลุกขึ้นมานั่งดีดฉิน
แสงเดือนส่งผ่านม่านบางๆ ลมอ่อนๆ พัดโชยมาเสื้อข้าพลิ้วไหว
หงส์หลงฝูงร้องมาจากป่าไกล วิหคเหินในป่าเหนือร้องแว่วมา
เห็นสิ่งใดฤาสงสัยว่ามิได้หลับ คิดคำนึงอยู่เดียวแสนเปลี่ยวใจ
จีคัง กวีและนักปรัชญช์ทางดนตรี ที่มีฝีมือในการดีดกู่ฉิน และเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ็ดเมธีแห่งป่าไผ่ ประพันธ์บทกวีชื่อว่า เขียนให้บัณฑิตที่ไปรับราชการทหาร (贈秀才入軍)
乘風高游,遠登靈丘。托好松喬,攜手俱游。
朝發太華,夕宿神州。彈琴詠詩,聊以忘憂。
ขี่ลมขึ้นไปเที่ยวที่สูง ไปเยือนภูเขาหลิงชิว
มือคว้าแลจับต้นสนสูงโลด จับมือกันไว้ไปเที่ยวด้วยกัน
อรุณรุ่งออกเดินทางจากไท่หวา ยามค่ำนอนที่เสินโจว
ดีดฉินขันลำนำกวี เพื่อลืมความทุกข์เศร้า
ในสมัยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 265- ค.ศ. 420) เถายวนหมิง (陶淵明) (ค.ศ. 365 – ค.ศ. 427) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317 – ค.ศ. 420) ผลงานที่กล่าวถึงกู่ฉิน เช่น การเขียนตอบทหารอาสาสมัครนามสกุลผัง (答龐參軍詩)
衡門之下,有琴有書,載彈載詠,爰得我娛。
豈無他好,樂是幽居,朝為灌園,夕偃蓬廬。
ในบ้านมีฉินมีหนังสือ ทั้งดีดทั้งอ่าน
ข้ามีความสุข หาได้มีสิ่งอื่นใดที่เป็นสิ่งรักของข้าเชียวหรือ
ความสุขก็คืออยู่ท่ามกลางป่าเขาที่สงบ
ยามเช้ารดน้ำต้นไม้ในสวน ค่ำนอนในกระท่อมเก่าโกโรโกโส
ค. ยุคทอง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยถึงราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 581 – ค.ศ. 917) ในสมัยราชวงศ์ถังเป็นยุคที่บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผลงานด้านวรรณคดีรุ่งเรืองมาก ในสมัยราชวงศ์ถังมีรวมบทกวี 900 ชุด มีบทกวี 48,900 กว่าบท มีกวีกว่า 2,200 คน ดังนั้นจึงเรียกสมัยราชวงศ์ถังว่าเป็นยุคทองของกวีนิพนธ์จีน
ในสมัยราชวงศ์ถังการดนตรีของจีนก็เจริญมาก นับได้ว่าเป็นยุคทองของการดนตรีเช่นกัน มีการบันทึกโน้ตกู่ฉินและนับว่าเป็นโน้ตกู่ฉินที่เก่าที่สุดของประวัติศาสตร์ดนตรีจีน ทำให้ศิลปะการบรรเลงกู่ฉินสามารถสืบทอดและดำรงรักษามาถึงปัจจุบัน สมัยราชวงศ์ถังมีการตั้งกองดุริยางค์ของราชสำนักมีการผลิตผลงานทางด้านดนตรี และการแสดงนาฎศิลป์ออกมามากมาย นอกจากนี้ในหมู่ชาวบ้านก็นิยมฟังและเล่นเครื่องดนตรีจากต่างประเทศ เช่น ผีผา และซอ (หูฉิน) ที่เข้ามาในประเทศจีนตั้งแต่ยุคกลาง
ในสมัยราชวงศ์ถังวรรณคดีที่มีการกล่าวถึงกู่ฉิน ได้แก่ บทกวีประเภทซือ () ทั้งบทกวี 5 คำ บทกวี 7 คำ ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินมีมากมายทั้งนี้อาจเป็นเพราะสมัยราชวงศ์ถังเป็นยุคทองของวรรณคดี และดนตรี อีกทั้งกู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีของผู้มีความรู้ ดังนั้นในสมัยนี้มีกวีหลายท่านที่เรียนและเล่นกู่ฉินเป็นงานอดิเรก เช่น หลี่ไป๋ หวังเหวย ไป๋จวีอี้ เป็นต้น
ในยุคนี้มีบทกวีมากมายพรรณนาถึงความไพเราะของเสียงกู่ฉิน และยังมีบทกวีที่บรรยายถึงบรรยากาศของการฟังกู่ฉิน ตลอดจนมีการพรรณนาถึงความไม่พอใจที่มีต่อกระแสความนิยมเครื่องดนตรีจากต่างประเทศ บทกวีที่กล่าวถึงกู่ฉิน เช่น บทกวีของกู้ค้วง (顧況) บทที่ชื่อว่า ดีดฉินกลางหุบเขา (彈琴谷)
谷中誰彈琴,琴響谷冥寂。因君扣商調,草蟲驚暗壁。
กลางหุบเขาใครดีดฉิน เสียงฉินทำให้หุบเขามืดสลัววังเวง
เนื่องเพราะท่านเล่นเสียงซัง แมลงบนต้นหญ้าตกใจซ่อนตัวที่มืด
และบทกวีของหลูหลุน (盧綸) บทที่ชื่อว่า ฟังเพลงฉินที่ปากน้ำเพราะได้พบกับจูนักพรตเต๋าจากเจียงโจว ( 河口逢江州朱道士因聽琴 )
廬山道士夜攜琴,映月相逢辨語音。
引坐霜中彈一弄,滿船商客有歸心。
ตอนค่ำนักพรตเต๋าแห่งเขาหลูซานนำฉินมาด้วย
พบกันใต้แสงจันทร์ก็ยังจำเสียงได้
เชิญนั่งกลางเกร็ดน้ำค้างแข็งบรรเลงเพลง
แม้พ่อค้าบนเรือได้ฟังก็ต่างหวนระลึกบ้านเกิด
ง. ยุคปลาย ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 960 - ค.ศ.1911) ยุคปลายระยะเวลายาวนานเกือบพันปี ดังนั้นจึงมีพัฒนาการทั้งทางดนตรี และวรรณคดี สำหรับการดนตรีของจีนในยุคปลายนี้ ซอ ซึ่งเป็นเครื่องสายใช้สี มีบทบาทมากขึ้น นิยมใช้บรรเลงทั่วไป ใช้บรรเลงประกอบในคณะงิ้ว การขับร้องและเล่านิทาน สำหรับกู่ฉินก็เจริญพัฒนาในด้านการมีสำนักหรือกลุ่มศิลปินตามท้องถิ่นหรือภูมิภาคต่างๆ ในประเทศจีนเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ กวีกับนักดนตรีก็มีการทำงานร่วมกัน ทำให้ศิลปะด้านวรรณคดีและศิลปะด้านดนตรีมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – 1279) คำประพันธ์ที่เป็นที่นิยมแต่งในสมัยราชวงศ์ซ่ง คือ ฉือ () ฉือเป็นทำนองเพลง กวีจะนำทำนองเพลงมาแต่งเป็นบทร้อง ฉือทำนองหนึ่งจึงจะมีบทร้องหลายบทของกวีหลายคน บทกวีประเภท ฉือที่กล่าวถึงกู่ฉิน เช่น ฉือของเย่ว์เฟย (岳飛) (ค.ศ. 1103 – 1142 ) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม งักฮุย เป็นแม่ทัพที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้รับยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษผู้รักชาติ ฉือของเย่ว์เฟยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินมีชื่อทำนองว่า เสี่ยวฉงซาน (小重山)
白首為功名,舊山松竹老,阻歸程。
欲將心事付瑤琴,知音少,絃斷有誰聽。
สู้เพื่อลาภยศจนผมหงอกขาว
ต้นสนต้นไผ่ของบ้านเกิดก็แก่เฒ่า คิดจะกลับบ้านก็มิได้
คิดจะบรรเลงฉินบรรยายความในใจ คนที่ฟังเข้าใจมีน้อยนัก
ดีดจนสายขาดจะมีใครฟัง
ฉือของหลี่ชิงเจ้า (李清照) (ค.ศ. 1084 – 1155?) กวีหญิงที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ซ่ง ฉือของหลี่ชิงเจ้าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินมีชื่อทำนองว่า ฮ่วนซีซา (浣溪沙)
小院閑春色深,重帘未卷影沉沉,倚樓無語理瑤琴。
遠岫出雲催薄暮,細風吹雨弄輕陰,梨花欲謝恐難禁。
ชุนเทียนมาถึงอยู่ว่างในลานบ้าน ม่านไม่ได้ม้วนขึ้นแสงสลัว
พิงกำแพงเงียบๆ ดีดฉินงาม
เมฆลอยขึ้นจากหุบเขา ลมอ่อนๆ พัดผ่านสายฝนทำให้ฟ้าสลัว
แม้ลมฝนแผ่วเบาก็มิอาจยั้งหลีฮวาร่วงโรยได้
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง นอกจากฉือที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว ยังมีบทกวีที่มีการกล่าวถึงกู่ฉิน ได้แก่ บทกวีชื่อ บทกวีฉิน (琴詩) ของ ซูซื่อ (蘇軾) (ค.ศ. 1037? – 1101) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า ซูตงปัว (蘇東坡) ในบทกวีแบบเซน (ฌาน) ในภาษาจีนเรียกว่า ฉานเหยียนซือ (禪言詩) ซูซื่อเขียนถึงกู่ฉินในเชิงปรัชญาของเซนไว้ ดังนี้
若言琴上有琴聲,放在匣中何不鳴?
若言聲在指頭上,何不於君指上聽?
หากพูดว่าบนตัวฉินมีเสียงฉิน ทำไมวางในกล่องแล้วไม่ดัง
หากพูดว่าเสียงมาจากนิ้วที่ดีด ทำไมท่านจึงไม่ฟังเสียงจากนิ้วเล่า
ในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279 – 1368) คำประพันธ์ที่นิยมในสมัยนี้ คือ ฉู่ () เป็นคำประพันธ์ที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ต่อมานิยมแต่งกันอย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์หยวน จำนวนคำในแต่วรรคไม่จำกัด ส่วนใหญ่เขียนโดยใช้ภาษาพูด ฉู่หนึ่งบทอาจจะเป็นบทร้องหรือเป็นเพลงเดี่ยวๆ ฉู่หลายๆ บทสามารถรวมเป็นเพลงชุด หากนำเพลงชุดหลายชุดมาต่อกันก็จะกลายเป็นบทละครที่ประกอบด้วยฉู่หลายๆ ชุดได้
ฉู่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ได้แก่ ฉู่ของเซียอางฟู (薛昂夫) ทำนองที่ชื่อว่า จงหลี่ว์ซานปัวหยาง(中呂 坡羊)
大江東去,長安西去,為功名走遍天涯路。
厭舟車,喜琴書,早星星鬢影瓜田暮。
心待足時名便足,高,高處苦:低,低處苦。
ฉางเจียงไหลไปทางตะวันออก เมืองฉางอานไปทางตะวันตก
เพื่อลาภยศเดินทางไปทั่วหล้า เบื่อเรือเบื่อรถ รักกู่ฉิน รักหนังสือ
แต่กว่าจะได้กลับคืนสู่นาสวน ผมหงอกขาว
ใจควรจะรู้จักพอในตำแหน่งชื่อเสียง สูงก็ทุกข์ ต่ำก็ทุกข์
และฉู่ของกวีนิรนาม ทำนองที่ชื่อว่า เซียนหลี่ว์โหยวซื่อเหมิน (仙呂 游四門)
琴書筆硯作生涯,誰肯戀榮華。
有時相伴漁樵話,興盡飲流霞,嗏!不醉不歸家。
ฉิน หนังสือ พู่กัน ที่ฝนหมึก คือชีวิต
ใครเล่าจะหลงอยู่กับเกียรติยศ
บางทีคุยกับคนหาปลา คนตัดฟืน คุยกันสนุกดื่มเหล้ารสดี
เฮ้ย ถ้าไม่เมา ก็ไม่กลับบ้าน
นอกจากนี้ยังมีบทละคร ( 戲劇 หรือ 雜劇 ) สำหรับแสดงเป็นละครร้อง หรือแสดงงิ้วอย่างจีน บทละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ได้แก่ บทละครเรื่อง หอตะวันตก (西廂記) ของหวางสื๋อผู่ (王實甫) (ไม่ปรากฏปีที่เกิดที่แน่ชัด) ซึ่งเป็นเรื่องความรักของหนุ่มสาว บทละครเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมากในสมัยราชวงศ์หยวน ตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน เช่น
張生嘆云:琴呵,昔日司馬相如求卓文君,曾有一曲,名曰文鳳求凰。小生豈敢自稱相如,只是小姐呵,教文君將甚來比得你。我今便將此曲依譜彈之。
จางเชิงถอนใจแล้วพูดว่า ฉินเอ๋ย ในสมัยโบราณซือหม่าเซียง หรูบอกรักจัวเหวินจวิน ก็เคยบรรเลงเพลงที่ชื่อว่า หงส์หาคู่ ข้าเสี่ยวเสิงฤาจะกล้าเอาตัวไปเทียบกับเซียงหรู แต่น้องนั้นจัวเหวินจวินก็มิ อาจเทียบน้องได้เลย วันนี้ข้าขอบรรเลงเพลงหงส์หาคู่เพลงนี้ตามโน้ตก็แล้วกัน
ในราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) และราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 – 1911) วรรณคดีประเภทนิยายเป็นที่นิยมและรุ่งเรืองมาก ดังนั้นวรรณคดีที่มีการกล่าวถึงกู่ฉินจะมีกล่าวถึงในนิยาย
วรรณคดีในสมัยราชวงศ์หมิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ได้แก่ นิยายเรื่อง สามก๊ก (三國演義) ประพันธ์โดย หลัวก้วนจง (羅貫中) (ประมาณระหว่าง ค.ศ. 1300 – 1400) เป็นนิยายขนาดยาวเรื่องแรกในประวัติวรรณคดีจีน นำเค้าเรื่องมาจาก สามก๊กจี่ (三國誌) และเรื่อง เล่าสามก๊ก (三國誌平話) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการสงครามสู้รบระหว่างสามก๊ก ในประเทศไทยมีการแปลเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นแม่กองในการแปล ต่อมาก็มีผู้แปลเรื่องนี้อีกหลายสำนวน เนื้อหาตอนที่กล่าวถึงกู่ฉิน มีดังนี้
孔明乃披鶴氅,戴綸巾,引二小童攜琴一張,於城上敵樓前,憑欄而坐,焚香操琴。
แล้วขงเบ้งคลุมเสื้อครุยขนนก แล้วใช้ผ้าโพกศีรษะ ให้เด็กน้อย
สองคนยกฉิน ขึ้นไปนั่งบนกำแพง จุดธูปแล้วดีดฉิน
วรรณคดีในสมัยราชวงศ์ชิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ได้แก่ นิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง (紅樓夢) หรือมีอีกชื่อว่า บันทึกของก้อนศิลา (石頭記) เนื้อหาส่วนแรก 80 ตอนแต่งโดย เฉาเสวี่ยฉิน (曹雪芹) (ค.ศ. 1715? – 1763) ส่วนหลัง 40 ตอนแต่งโดยเกาเอ้อ (高鶚) (ค.ศ. 1753? – 1815?) เป็นนิยายเกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว ในสี่ตระกูลใหญ่ มีตัวละครมากมายสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรือง และความตกต่ำของวงศ์ตระกูล ทำให้เห็นถึงสัจธรรมแห่ง อนิจจังของสิ่งทั้งปวง นิยายเรื่องนี้มีชื่อเสียงมาก คนจีนนิยมอ่านมาทุกยุคทุกสมัย สร้างเป็นภาพยนต์หลายครั้ง นำมาแสดงเป็นละครร้องหรืองิ้วในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศจีน ในนิยายเรื่องนี้มีการกล่าวถึงความเชื่อเรื่องการเลือกผู้ฟัง การเลือกสถานที่ที่ดีดกู่ฉิน ประโยชน์ของกู่ฉิน ดังในตอนที่ 86 มีเนื้อความดังนี้
寶玉樂得手舞足蹈說:“好妹妹,你既明琴理,我們何不學起來?”貸玉道:“琴者,禁也。古人制下,原以治身,涵養性情,抑其淫蕩去其奢侈。若要撫琴,必擇靜室高齋,或在層樓的上頭,或在林岩的裡面,或是山巔上,或是水涯。再遇著那天地清和的時候,風清月朗,楚香靜坐,心不外想,氣血和平,才能與神合靈,與道合妙。所以古人說:‘知音難遇。’若無知音,寧可獨對著那清風明月蒼松怪石,野猴老鶴,撫弄一番,以寄興趣,方為不負了這琴。
เป่าอวี้ตื่นเต้นดีใจพูดว่า น้องรัก ในเมื่อน้องเข้าใจการเล่นฉิน
ทำไมพวกเราไม่เรียนกันเลยล่ะ ไต้อวี้กล่าวว่า อันฉินนั้นคือศีล หรือ
ข้อห้าม คนโบราณสร้างกู่ฉินขึ้นมาเพื่อบรรเลงกล่อมเกลาจิตใจ ผู้ที่เคย
หลงใหลและมัวเมาในโลกียะ ก็จะละวาง ตั้งตนอยู่ในความสงบ เรียบง่าย
ไม่ฟุ่มเฟือย หากว่าจะบรรเลงกู่ฉินต้องหาที่บรรเลงอันเหมาะสม เงียบสงบ
ดังเช่น บนหอสูง ในป่า บนเขา หรือริมน้ำ ควรบรรเลงในวันที่อากาศ
ดี เย็นสบาย ลมพัดเบาๆ พระจันทร์ส่องสว่าง จุดธูป สำรวมจิต
จิตใจจดจ่อไม่คิดฟุ้งซ่าน ไม่โกรธไม่เศร้าคิดแต่สิ่งที่ดี จิตใจถึงจะเป็น
หนึ่งเดียวกับเทพไท้ และเป็นหนึ่งเดียวกับสัจธรรม ดังนั้นคนโบราณ
กล่าวว่า คนที่จะเข้าใจฉิน (ดนตรี) หายากยิ่ง หากหาคนที่เข้าใจไม่ได้
ก็ให้บรรเลงต่อหน้าสายลม แสงจันทร์ ต้นสน ก้อนหิน หรือไม่ก็ดีดให้
ลิง ให้นกกระเรียนฟังสักเพลง เพื่อความสำราญใจ จึงจะไม่ทำให้ฉินผิดหวัง
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ฉิน หรือ กู่ฉิน เครื่องดนตรีจีนที่สำคัญชนิดนี้ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีจีนทุกยุคทุกสมัย และปรากฏในรูปแบบคำประพันธ์ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทกวีประเภท ฟู่ บทกวี 5 คำ บทกวี 7 คำ ฉือ ฉู่ ความเรียง หรือนิยาย
กู่ฉินในสมัยราชวงศ์หมิงเริ่มมีโต๊ะวางฉิน
ภาพสะท้อนจากวรรณคดีที่กล่าวถึงกู่ฉิน
ภาพสะท้อนจากผลงานวรรณคดีจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน อาจสรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้
ก. กู่ฉินในฐานะเป็นเครื่องดนตรีจีน
จากการศึกษาและวิจัยผลงานวรรณคดีจีนที่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินทำให้ได้ความรู้และเข้าใจกู่ฉินเครื่องดนตรีจีนโบราณ ในฐานะเป็นเครื่องดนตรีจีนที่สำคัญชนิดหนึ่ง ดังนี้
รูปร่างของกู่ฉิน ผลงานวรรณคดีจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินได้บรรยายถึงรูปร่าง และส่วนประกอบของกู่ฉิน เช่น บทกวีของไป่จวีอี้ (白居易) บทที่ชื่อว่า ทิ้งฉิน (廢琴)
絲桐合為琴,中有太古聲。
เส้นไหมและไม้ถงเป็นตัวฉิน มีเสียงที่โบราณเก่าแก่
บทกวีของฉางเจี้ยน (常建) บทที่ชื่อว่า สุขกับเสียงฉินกลางแม่น้ำ (江上琴興)
始知梧桐枝,可以徽黃金。
เริ่มแรกรู้ว่าเป็นเพียงท่อนไม้ถง แล้วทำตำแหน่งฮุยสีเหลืองทอง
บทกวีของชุยเจวี๋ย (崔玨) บทที่ชื่อว่า ดีดฉินร้องเพลงในงานเลี้ยง (席間詠琴客)
七條弦上五音寒,此藝知音自古難。
เสียงทั้งห้าจากฉินเจ็ดสายฟังยาก
แต่โบราณนานมาศิลปะนี้หาคนเข้าใจยาก
และบทกวีของหลี่เฮ่อ (李賀) บทที่ชื่อว่า ฟังครูอิ่งดีดฉิน (聽穎師彈琴歌)
古琴大軫長八尺,峰陽老樹非桐孫。
กู่ฉินยาวแปดฉื่อ ลูกบิดใหญ่ ทำจากลำต้นถงเก่าแก่บนเขาเฟิงหยาง
ไม่ใช่เพียงกิ่งก้านเล็ก
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เป็นการบรรยายลักษณะ และส่วนประกอบของกู่ฉินสมัยโบราณว่า มีสายเป็นไหม ไม้ที่ทำเป็นตัวฉินทำจากไม้ถง มีฉินฮุยบอกตำแหน่งเสียงทำด้วยทอง ยาวแปดฉื่อ มีสาย 7 สาย มีลูกบิดใหญ่ทำมาจากต้นถงต้นใหญ่
ปัจจุบันรูปร่างของกู่ฉินมีลำตัวยาวแบน ยาวประมาณ 130 ซม. กว้าง 20 ซม. หนา 5 ซม. ทำด้วยไม้ถง มีตำแหน่งบอกเสียงฝังอยู่บนลำตัวฉินซึ่งอาจทำจากหยก ทอง เปลือกหอยหรือกระดูกสัตว์ มี 13 จุด เรียกว่า ฉินฮุย (琴徽) มีขา 2 ขา มี 7 สาย สายกู่ฉินในสมัยโบราณทำด้วยเส้นไหม แต่ปัจจุบันทำด้วยพลาสติกหุ้มลวด มีลูกบิด หรือในภาษาจีนเรียกว่า ฉินเจิน (琴軫) จำนวน 7 อัน ที่ใต้ลูกบิดมีพู่ห้อยเพื่อความสวยงาม
เสียงของกู่ฉิน จากผลงานวรรณคดีจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินได้บรรยายถึงเสียงของกู่ฉินไว้หลายลักษณะ ผู้ที่เข้าใจ รัก และชอบเครื่องดนตรีชิ้นนี้ก็ชื่นชมว่ามีเสียงไพเราะ เช่น บทกวีของซือหม่าจา (司馬扎) บทที่ชื่อว่า ยามค่ำฟังคนภูเขาสกุลหลี่ดีดฉิน (夜聽李山人彈琴)
曲中聲盡音不盡,月照竹軒紅葉明。
เสียงเพลงจบลงแต่ความไพเราะยังคงอยู่
แสงเดือนส่องศาลาไผ่เห็นใบไม้สีแดงชัดเจน
บทกวีของฉางเจี้ยน บทที่ชื่อว่า คืนชิวเทียนฟังฉินที่ดีดให้อาจารย์โค่วฟัง(聽琴秋夜贈寇尊師)
一指指應法,一聲聲爽神。
ทุกนิ้วที่ดีดถูกต้องแม่นยำ ทุกเสียงฟังแล้วสบายใจ
และบทกวีของซื่อเปียว (釋彪) บทที่ชื่อว่า ฉินล้ำค่า (寶琴)
刻作龍鳳像,彈為山水音。
แกะสลักเป็นรูปหงส์และมังกร ดีดแล้วเป็นเสียงภูผาและสายน้ำ
ส่วนชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีการศึกษา และไม่มีความเข้าใจในกู่ฉิน ก็จะไม่ชอบฟัง จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านกลุ่มนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเบา ไม่ดึงดูดความสนใจ กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องฟังอย่างตั้งใจ และมีสมาธิสูง ดังนั้นสำหรับชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา คนที่ไม่ได้รับการศึกษาจะไม่ชอบฟังกู่ฉิน คิดว่าเป็นของเก่าโบราณ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีรสชาติ และว่าเป็นของเก่าของโบราณไม่น่าสนใจ เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า ทิ้งฉิน
古聲淡無味,不稱今人情。
เสียงโบราณไร้รสชาติ ไม่ถูกใจคนปัจจุบัน
บทกวีของหลิวฉางชิน (劉長卿) บทที่ชื่อว่า ฉินในความสงบ (幽琴)
古調雖自愛,今人都不彈。
ทำนองแบบเก่าแม้ตนชอบ แต่คนปัจจุบันไม่เล่นแล้ว
และบทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า ซินเย่ว์ฝู่ (新樂府)
人情重今多賤古,古琴有弦人不撫。
คนให้ความสำคัญกับของใหม่รังเกียจของเก่า
ฉินโบราณแม้มีสายคนก็ไม่ดีด
ข. การบรรเลงกู่ฉิน
ในผลงานวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินมักจะบรรยายว่าบรรเลงใต้แสงจันทร์ยามค่ำคืน ลมเย็นๆ พัดมาเบาๆ เช่น บทกวีของหลี่ไป๋ บทที่ชื่อว่า คืนเดือนเพ็ญฟังหลูจื่อซุ่นดีดฉิน (月夜聽盧子順彈琴)
閑夜座明月,幽人彈素琴。
คืนวันว่างใต้แสงเดือน ผู้รักความสันโดษและความสงบดีดฉิน
บทกวีของหลิวฉางชิน บทที่ชื่อว่า ฉินในความสงบ
月色滿軒白,琴聲宜夜闌。
แสงจันทร์ส่องสว่างผ่านหน้าต่าง เสียงฉินเหมาะกับยามค่ำคืน
สำหรับคนฟังก็ต้องเลือก หากไม่มีคนที่เข้าใจดนตรีก็ไม่ควรเล่นฉิน หรือไม่ก็ควรดีดฉินให้ธรรมชาติฟังยังจะดีกว่า ดังในนิยายเรื่อง ความฝันในหอแดง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นในผลงานวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน มักจะกล่าวถึงว่าการที่จะหาคนเข้าใจในดนตรี หรือกู่ฉินมาฟังได้ยากมาก เช่น บทกวีของไป๋สิงเจี่ยน (白行簡) บทที่ชื่อว่า ดีดฉินได้พบคนเข้าใจในเสียงเพลง
(夫子鼓琴得其人)
曲終情不盡,千古仰知音。
เพลงจบแต่ความรู้สึกซาบซึ้งไม่หมดสิ้น
แต่โบราณก็แสวงหาคนเข้าใจในเสียงเพลง
บทกวีของหลิวฉางชิน บทที่ชื่อ ฉินในความสงบ
向君投此曲,所貴知音難。
ขอให้ท่านบรรเลงเพลงนี้
ที่สำคัญหาคนเข้าใจในเพลงนั้นยากนักหนา
และบทกวีของเมิ่งเฮ่าหราน (孟浩然) บทที่ชื่อว่า คิดถึงซิ้งต้าที่ศาลาใต้ในฤดูร้อน (夏日南亭懷辛大)
欲取鳴琴彈,恨無知音賞。
ปรารถนาจะนำฉินมาดีด
แต่เกลียดที่ว่าไร้คนเข้าใจในดนตรีกู่ฉินมาฟัง
ในสมัยราชวงศ์ถังจีนได้มีการติดต่อกับต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนและรับวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามา ดนตรีของชนชาติต่างๆ เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้าน ทำให้มีบทกวีที่กล่าวถึงความนิยมและความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า ทิ้งฉิน
不辭為君彈,縱彈人不聽。何物使之然?羌笛與秦箏。
ไม่ขอให้ท่านดีด แม้ดีดคนไม่ฟัง
อะไรที่คนชื่นชอบล่ะ ขลุ่ยของชาวเชียงและเจิงของชาวฉิน
ค. ความคิดเห็นของคนจีนที่มีต่อกู่ฉิน
การศึกษาและวิจัยผลงานวรรณคดีจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ทำให้ทราบว่าคนจีนมีความคิดเห็นต่อกู่ฉินเครื่องดนตรีชนิดนี้ ดังนี้
กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง เป็นของสูงส่งไม่ธรรมดา เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า เมื่อเติ้งฟังจังเช่อสอบไม่ผ่าน (鄧魴張徹落第)
古琴無俗韻,秦罷無人聽。
เสียงฉินไม่ธรรมดา ชาวรัฐฉินเลิกเล่นไม่มีคนฟัง
และในบทกวีของหวางชังหลิง (王昌齡) บทกวีที่ชื่อว่า จิ้งซือฝ่าแห่งตงไจ (靜法師東齊)
琴書全雅道。
ฉินและหนังสือต่างก็เป็นวิถีที่สูงส่ง
บางครั้งการที่กวีเห็นว่ากู่ฉินเป็นของสูง ก็เลยไม่ให้ความสำคัญแก่เครื่องดนตรีชนิดอื่น และยังเห็นว่าคนที่ชอบเครื่องดนตรีอื่นๆ เป็นคนธรรมดาๆ ไม่พิเศษ สื่อความว่า เป็นการแบ่งชั้น แบ่งระดับของคน และยังแฝงความหมายเป็นการดูถูกคนที่ไม่เข้าใจดนตรีกู่ฉินด้วย เช่น บทกวีของจ้าวถวน (趙搏) บทกวีที่ชื่อว่า เพลงฉิน (琴歌)
萬重山水不肯聽,俗耳樂聞人打鼓。
(ฉิน) เพลงสูงส่งไพเราะราวภูเขาแลสายน้ำไม่ยอมฟัง
หูของคนสามัญชอบแต่เสียงคนตีกลอง
กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตรวมเป็นหนึ่ง เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า ฟังฉินที่ไพเราะ (好聽琴)
一聲來耳裡,萬事離心中。
พอโสตยลยินเสียงฉิน หมื่นเรื่องก็จากใจไปสิ้น
บทกวีของจี้จี่ (齊己) บทที่ชื่อว่า ฟังอาจารย์หลี่ดีดฉิน (聽李尊師彈琴)
此聲含太古,誰聽到無心。
เสียงเพลงนี้มีทำนองโบราณ ใครได้ฟังจิตใจว่างเปล่า
และบทกวีของฉางเจี้ยน บทที่ชื่อว่า สุขกับเสียงฉินกลางแม่น้ำ
江上調玉琴,一弦清一心。
ในแม่น้ำมีคนดีดฉินเลิศดังหยก เสียงจากสายทำให้ใจสงบสะอาด
กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นเพื่อความสุขใจ คนจีนเชื่อว่ากู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นเพื่อฝึกฝนสมาธิของตนเอง มีกวีหลายคนมีกู่ฉินเป็นเพื่อน และเป็นเครื่องดนตรีที่ให้ความเพลิดเพลินส่วนตัว เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า ระลึกถึงเว่ยจือเป็นห่วงจงหย่วน (憶微之傷仲遠)
幽獨辭群久,漂流去國賒。只將琴作伴,唯以酒為家。
บอกลาหมู่เพื่อนอยู่โดดเดี่ยวมาเป็นเวลานาน
พเนจรไปแดนไกล ได้แต่เอาฉินเป็นเพื่อน เอาเหล้าเป็นบ้าน
บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า เขียนด้วยตนเองที่ซงไจ (松齊自題)
況此松齋下,一琴數帙書。書不求甚解,琴聊以自娛。
โดยเฉพาะในกระท่อมใต้ต้นสน มีฉินตัวหนึ่ง มีหนังสือมากมาย
หนังสือไม่อยากจะอ่านให้เข้าใจนัก
ส่วนฉินก็พอให้ความเพลิดเพลินแก่ตนบ้าง
กู่ฉินทำให้ใกล้ชิด และสนิทกับเพื่อนที่รู้ใจมากขึ้น เช่น บทกวีของเหวยจวง (韋莊) บทที่ชื่อว่า แด่ขุนนางสกุลหลี่ที่ดีดฉินบนเขาเอ๋อเหมย (贈峨嵋山彈琴李處士)
名卿名相盡知音,遇酒遇琴無間隔。
ขุนนางที่มีชื่อเสียงล้วนแต่เป็นเพื่อนรัก
พอกินเหล้าดีดฉินยิ่งใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
กู่ฉินทำให้เข้าใจธรรมะ หรือสัจธรรมในโลกนี้ เช่น บทกวีของเฉินเซิน (岑參) ในบทที่ชื่อว่า เวทีดีดฉินของเซียงหรู (司馬相如琴臺)
相如琴臺古,人去臺亦空。臺上寒簫條,
至今多悲風。荒臺漢時月,色與舊時同。
เวทีที่เซียงหรูดีดฉินเก่าโบราณ คนจากไปแล้วเวทียังคงอยู่
เวทีดูเงียบเหงาวังเวง จนวันนี้ลมแห่งความเศร้าพัดแรง
เวทีร้างเดือนดวงเดียวกับสมัยฮั่น สีสันยังคงเหมือนดังเดิม
นอกจากนี้ยังมีบทกวีที่พรรณนาความยิ่งใหญ่ พลังของเสียงกู่ฉินที่แฝงไปด้วยปรัชญา เพียงฟังชั่วคืนก็ทำให้คิดได้ ปลงตก และเข้าใจธรรมะและธรรมชาติของชีวิต เช่น บทกวีของเมิ่งเจียว (孟郊) ในบทกวีที่ชื่อว่า ฟังฉิน (聽琴)
學道三十年,未免優死生。
聞彈一夜中,會盡天地情。
เรียนสัจธรรมและธรรมะสามสิบปี
เรื่องเป็นเรื่องตายยังคงรบกวนใจ
ฟังเสียงดีดฉินเพียงหนึ่งราตรี
อารมณ์ทางโลกที่มีหมดสิ้นไป
ง. กู่ฉินกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนโบราณ
กู่ฉินกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนโบราณ อาจแบ่งตามยุคสมัยได้ดังนี้
ยุคก่อนราชวงศ์ฉิน กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการขับร้อง และบรรเลงในงานเลี้ยง หรือในพิธีบวงสรวง นอกจากนี้ชาวบ้านทั่วไปก็เล่นดนตรีชนิดนี้ด้วย จากบทกวีใน ซือจิง บทกวนจวี (關睢) มีการกล่าวถึงฉินว่าเป็นเครื่องดนตรี ที่บรรเลงเพื่อเป็นการบอกรักหญิงสาว ได้แก่
窈窕淑女,琴瑟友之。
หญิงสาวงามสง่า จะดีดฉินดีดเส้อเพื่อเป็นการผูกมิตรไมตรีกับเธอ
ในยุคต่อมาตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา จากข้อมูลพบว่าคนที่มีความรู้เกี่ยวกับกู่ฉินมักจะเป็นผู้มีความรู้ มีการศึกษา เป็นผู้รักความสงบ รักสันโดษ บ้างก็หลีกหนีจากสังคมเมืองไปอยู่ในป่า บนภูเขา เพื่อหาความสงบไม่แสวงหาเกียรติยศ และชื่อเสียงจากการรับราชการแล้ว บุคคลประเภทนี้มีมากในสมัยโบราณ เรียกว่า ผู้ปลีกวิเวก (隱士) และเรียกการดำรงชีวิตแบบนี้ว่า อยู่อย่างวิเวก (隱居) มีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคนปฏิบัติตนเช่นนี้ ได้แก่ เถายวนหมิง จีคัง หร่วนจี๋ หวังเหวย เป็นต้น ดังนั้น ชีวิตของกวีเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ ทำสวนเพื่อดำรงชีวิตแล้ว ในชีวิตประจำวันก็ดีดฉิน อ่านตำรา หนังสือ และเขียนบทกวี เช่น บทกวีของเถายวนหมิง บทที่ชื่อว่า กลับมาเถิด (歸去來辭) มีเนื้อหาที่แสดงว่ากวีเป็นผู้ปลีกวิเวก เป็นคนสมถะ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง มีเนื้อหาดังนี้
樂琴書以消憂。
สนุกกับการดีดฉินอ่านหนังสือ เพื่อผ่อนคลายความเศร้า
และบทกวีของกวีนิรนาม บทที่มีชื่อทำนองว่า เซียนหลี่ว์โหยวเหมิน
琴書筆硯作生涯,誰肯戀榮華。
ฉินหนังสือพู่กันที่ฝนหมึกคือชีวิต ใครเล่าจะหลงอยู่กับเกียรติยศ
นอกจากนี้บรรดากวีที่รักความสันโดษ และปลีกวิเวิกไปอยู่ในป่าหรือบน
ภูเขา ยังมีเหล้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เหล้านับเป็นส่วนหนึ่งของ
วัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่โบราณ เช่น
ในสมัยราชวงศ์เว่ย เช่น บทกวีของจีคัง บทที่ชื่อว่า จดหมายตัดมิตรกับซานจวี้หยวน (與山巨源絕交書)
但愿守陋巷,教養子孫,
時與親舊敘闊,陳說平生,
濁酒一杯,彈琴一曲,志愿畢矣。
หวังแต่ว่าได้อยู่ในตรอกซอยเก่าๆ แคบๆ ได้สั่งสอนลูกหลาน
พูดคุยกับญาติพี่น้องเรื่องเก่าๆ คุยเรื่องชีวิต
เหล้าหนึ่งจอก ดีดฉินท่อนหนึ่ง ความหวังก็มีเพียงนี้
ในสมัยราชวงศ์ถัง เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า กับเหล้ากับฉิน (對琴酒)
自古有琴酒,得此味者稀。祇因康與籍,及我三心知。
แต่โบราณก็มีฉิน มีเหล้า ผู้ได้ลิ้มรสของสิ่งนี้มีไม่มากนัก
ก็มีเพียงจีคัง หร่วนจี๋ และข้าสามคนเท่านั้นที่รู้ได้ด้วยใจ
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เช่น บทกวีของซูซื่อ บทที่ชื่อว่า สิงเซียงจื่อ (行香子)
幾時歸去,作個閑人,對一張琴,一壺酒,一溪雲。
เมื่อไรจะได้กลับไป เป็นคนที่ว่างๆ มีฉินหนึ่งตัวมีเหล้าหนึ่งกา
อยู่กับลำธารสายน้ำ และหมู่เมฆ
กู่ฉินกับชีวิตของนักบวช
กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเบา นุ่ม ไม่ดังโฉ่งฉ่าง อึกทึก ทำให้ฟังแล้วจิตใจสงบ มีสมาธิ ดังนั้นในสมัยโบราณนักบวช นักพรตในศาสนาพุทธ หรือนักพรตในศาสนาเต๋าต่างก็นิยมเรียน เล่น และฟังกู่ฉิน
ในสมัยราชวงศ์ถัง เช่น บทกวีของ หลี่ซวินกู่ (李宣古) บทกวีที่ชื่อว่า ฟังนักพรตเต๋าของรัฐสู่บรรเลงฉิน (聽蜀道士琴歌) บทกวีของ ซวินกู่ (宣古) บทกวีที่ชื่อว่า ฟังภิกขุบรรเลงฉิน (聽僧彈琴) บทกวีของหลี่ไป๋ บทกวีที่ชื่อว่า ฟังภิกขุรัฐสู่บรรเลงฉิน (聽蜀僧濬彈琴) นอกจากบทกวีที่กล่าวถึงการฟังการบรรเลงฉินของนักบวชแล้ว ยังมีกวีที่เขียนถึงพระภิกษุกับดนตรีด้วย ได้แก่ บทกวีของหลิวอวี่ซี (劉禹錫) บทกวีที่ชื่อว่า ฟังฉิน (聽琴)
禪思何妨在玉琴,真僧不見聽時心。
ฌานนั้นอาจอยู่ในเสียงฉิน พระผู้รู้แจ้งฟังแล้วจิตไม่หวั่นไหว
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีบทกวีของซูซื่อ บทที่ชื่อว่า ฟังเพลงฉินของพระภิกษุเจา (聽僧昭素琴) นอกจากนี้ซูซื่อได้แต่งเพลงร่วมกับชุยเสียน (崔閑) นักพรตศาสนาเต๋า โดยซูซื่อแต่งเนื้อร้อง และชุยเสียนแต่งทำนอง ในเพลงที่ชื่อว่า เพลงผู้เฒ่าขี้เมา (醉翁吟) เพลงนี้แต่งขึ้นเพราะได้แรงบันดาลใจมาจากบทความของโอวหยางซิวเรื่อง บันทึกศาลาเฒ่าขี้เมา(醉翁亭記) และแต่งเพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่โอวหยางซิว คำว่า ผู้เฒ่าขี้เมา (醉翁) ในเพลงนี้ หมายถึง โอวหยางซิว นับว่าเป็นผลงานร่วมกันระหว่างกวี และนักดนตรีซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาเต๋า เพลงผู้เฒ่าขี้เมาเป็นเพลงที่นิยมมากในสมัยราชวงศ์ซ่ง
กู่ฉินกับสัตว์เลี้ยงของกวีจีนโบราณ
จากการศึกษาวิจัยผลงานวรรณคดีจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉิน ทำให้ทราบว่าคนจีนมีการเลี้ยงนกกระเรียน นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงแล้วยังเอานกกระเรียนเป็นเพื่อนด้วย เท่าที่พบมีเฉพาะบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง เช่น บทกวีของไป๋จวีอี้ ในบทที่ชื่อว่า ความสุขโดยลำพัง (自喜)
身兼妻子都三口,鶴與琴書共一船。
ตัวเองรวมลูกเมียเป็นสามคน และมีนกกระเรียน ฉิน และหนังสือ
รวมอยู่ในเรือลำเดียวกัน
และบทกวีของเจิ้งกู่ (鄭谷) ในบทที่ชื่อว่า มอบให้ขุนนางสกุลหลี่ของเมืองฟู่ผิง
(贈富平李宰)
夫君清且貧,琴鶴最相親。
ท่านเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและยังยากจนขัดสน
มีฉินและนกกระเรียนเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดสนิทสนมมากที่สุด
กู่ฉินกับการสร้างสรรค์วรรณศิลป์ในวรรณคดีจีน
จากการศึกษาและวิจัยผลงานวรณคดีจีนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกู่ฉินทำให้ทราบ
ว่าวรรณคดีโบราณมีการใช้ภาพพจน์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของวรรณคดีจีน ซึ่งอาจจำแนกตามชนิดของภาพพจน์ได้ 5 ชนิดดังนี้
ก. อุปมา (Simile) การใช้อุปมาเป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง ได้แก่ ในบทกวี ซือจิง
妻子好合,如鼓瑟琴。
ลูกเมียกลมเกลียว ดุจดังการบรรเลงเส้อและฉิน
บทกวีของหลีไป๋ บทที่ชื่อว่า ฟังภิกขุรัฐสู่บรรเลงฉิน
為我一揮手,如聽萬壑榕。
บรรเลง(ฉิน) ให้ฟังเพลงหนึ่ง เสียงดุจดั่งเสียงสนในหุบเขา
และบทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า บทกวีที่เขียนโต้ตอบกับเว่ยจือ บทที่ยี่สิบสาม (和微之詩二十三首)
中有弄琴人,聲貌俱如玉。
ข้างในห้องมีคนดีดฉิน ทำนองเสียงไพเราะดั่งหยกใส
ข. อุปลักษณ์ (Mataphor) เป็นการเปรียบที่นำลักษณะเด่นของสิ่งที่ต้องการจะเปรียบมากล่าวทันที อาจจะมีคำเชื่อมหรือไม่มีคำเชื่อมโยงก็ได้ ได้แก่ บทกวีของหลูจ้าวหลิน (盧照鄰) บทที่ชื่อว่า เวทีของเซียงหรู (相如琴臺)
疑作賦客,月似聽琴人。
เมฆคือคนเขียนฟู่ (ซือหม่าเสียงหรู)
จันทราเหมือนคนฟังฉิน (จัวเหวินจวิน)
และบทกวีของไป๋จวีอี้ บทที่ชื่อว่า ดีดฉินยามค่ำบนเรือ (船夜援琴)
七弦為益友,兩耳是知音。
(ฉิน) เจ็ดสายเป็นเพื่อนที่ดี หูทั้งสองเป็นคนที่เข้าใจในเสียงเพลง
คำว่าเจ็ดสาย เป็นอุปลักษณ์อย่างหนึ่งกล่าวคือ เป็นการนำลักษณะเด่นของกู่ฉินมาเป็นคำเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้
ค. บุคลาธิษฐาน (Personificaiton) เป็นการเปรียบเทียบโดยนำสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต แต่ไม่ใช่คนมากล่าวถึงราวกับเป็นคน เช่น บทกวีของหวางฝู่หร่าน (皇甫冉) บทที่ชื่อว่า บนฉากกั้นลมเป็นรูปคนถือฉิน (屏風上各賦一物得攜琴客)
白雲知隱處,芳草迷行跡。
เมฆขาวรู้ที่ปลีกวิเวก ต้นหญ้าทำให้หลงทาง
และบทกวีของเมิ่งเฮ่าหราน บทที่ชื่อว่า คิดถึงซิ้งต้าที่ศาลาใต้ในฤดูร้อน
荷風送香氣,竹露滴清響。
ลมส่งกลิ่นบัวหอมฟุ้งกระจาย น้ำค้างบนใบไผ่หยดลงส่งเสียงใส
ง. สัทพจน์ (Onomatopoeia) เป็นการใช้ความเปรียบที่ใช้คำที่ให้เสียง เช่น สุขกับเสียงฉินกลางแม่น้ำของฉางเจี้ยน
冷冷七弦遍,萬木澄幽陰。
หลิงหลิงเสียงจากเจ็ดสาย มวลหมู่ไม้สงบนิ่ง
และบทกวีของเมิ่งเจียว ในบทกวีที่ชื่อว่า ฟังฉิน
前溪忽調琴,隔林寒琤琤。
聞彈正弄聲,不敢枕上聽。
ทันใดข้างลำธารมีเสียงดีดฉิน ป่าห่างไกลยินเสียงวังเวงเชิง เชิง
ฟังเสียงบรรเลงฉิน ไม่กล้านอนฟังต่อไป
จ. อติพจน์ (Hypobole) เป็นการใช้ภาพพจน์แบบเกินจริงมาก หรือเป็นจริงไปไม่ได้ เน้นการสื่ออารมณ์อย่างเข้มข้น งานวิจัยนี้พบว่า กวีใช้ภาพพจน์
ในการพรรณนาความไพเราะ พลังของเสียงกู่ฉิน อานุภาพของเสียงกู่ฉิน เช่น บทกวีของไชย่ง บทที่ชื่อว่า ฉินฝู่
走獸率舞,飛鳥下翔。感激弦歌,一低一昂。
สัตว์ที่เดินก็เต้นรำ นกที่บินก็ถลาลงฟัง
ซึ้งในเสียงเพลง เคลื่อนไหวเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ
บทกวีของหลี่ซิน (李欣) บทที่ชื่อว่า เพลงฉิน (琴歌)
一聲動物皆靜,四座無言星欲稀。
พอเสียง (ฉิน) ดังขึ้นบรรดาสัตว์ต่างเงียบ
รอบด้านไร้เสียงแม้แต่ดวงดาวยังหรี่แสง
空山百鳥散還合,萬里浮雲陰且晴。
ฝูงนกบนเขาแตกฝูงแล้วกลับมารวมกันใหม่
เมฆาหมื่นลี้ลอยอยู่ฟ้ามืดกลับสว่าง
川為靜其波,鳥亦罷其鳴。
แม่น้ำนิ่งสงบไร้เกลียวคลื่น หมู่วิหคหยุดส่งเสียงร้อง
นอกจากจะมีการพรรณนาถึงความไพเราะ และพลังของเสียงของกู่ฉินแล้ว ยังมีการพรรณนาถึงความพิเศษของกู่ฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกู่ฉินจะมีเสียงดังออกมาเองแม้เพียงแค่ลมพัดผ่าน เช่น บทกวีของซื่อเปียว บทที่ชื่อว่า ฉินล้ำค่า
星從徽裡發,風來弦上吟。
ดาวส่งแสงระยิบระยับออกมาจากฉินฮุย
ลมพัดมากระทบสายก็เกิดเสียง
วรรณคดีจีนกับเพลงกู่ฉิน
ในที่นี้จะศึกษาเพลงกู่ฉินใน 2 ลักษณะ ดังนี้
ก.เนื้อเพลงกู่ฉินที่นำมาจากผลงานวรรณคดี
การนำบทกวีมาขับร้อง มีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ซือจิง ซึ่งเป็นวรรณคดีเล่มแรกของจีน ที่รวบรวมบทกวีตั้งแต่ราชวงศ์โจวตะวันตกจนถึงสมัยชุนชิว บทกวีใน ซือจิง ทั้ง 305 บท สามารถนำมาขับร้องโดยมีฉินและเส้อ
บรรเลงประกอบการขับร้อง ดังใน สื่อจี้ (史記) กล่าว่า
詩三百五篇,孔子皆絃歌之。
บทกวีสามร้อยห้าบท ขงจื่อร้องและบรรเลงเครื่องสายได้ทั้งหมด
และดังใน มั่วจื่อ บทกงเมิ่ง (墨子公孟篇) กล่าวว่า
誦詩三百,絃詩三百,歌詩三百。
ขับลำนำกวีสามร้อยบท
บรรเลงเครื่องสายคลอบทกวีสามร้อยบท
ร้องบทกวีสามร้อยบท
ปัจจุบัน ซือจิง เป็นเพียงหนังสือรวมบทกวีเท่านั้น ส่วนการขับร้องและดนตรีที่บรรเลงประกอบไม่มีหลักฐานหรือตัวอย่างว่าขับร้องและบรรเลงดนตรีประกอบอย่างไร แต่เนื้อหาของบทกวีใน ซือจิง สะท้อนให้เห็นว่า การขับร้องและดนตรีพื้นบ้านของคนในสมัยนั้นเจริญมาก
ในสมัยราชวงศ์ถังซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีจีน ในสมัยนี้นิยมนำบทกวีมาขับร้อง เพลงกู่ฉินที่นิยมขับร้องในสมัยนี้ คือ เพลงด่านหยางกวนสามท่อน หรือเรียกว่า หยางกวงซานเตี๋ย (陽關三疊) ประพันธ์โดย หวังเหวย (王維) เดิมบทกวีบทนี้มีชื่อว่า ส่งหยวนเอ้อร์ไปทำราชการที่เมืองซีอาน (送元二使西安) โดยมีเนื้อหาดังนี้
渭城朝雨浥輕塵,
客色青青柳色新。
勸君更盡一杯酒,
西出陽關無故人。
ฝนเมืองเว่ยยามเช้าฝุ่นเปียกชื้น
ที่พักแรม ต้นหลิวสีสันใหม่เขียวขจี
ขอเชิญท่านดื่มสุราให้หมดอีกถ้วย
ไปทางตะวันตกไร้ผู้คุ้นเคย
เพลงด่านหยางกวนสามท่อน เพลงนี้มีโน้ตหลายทางหลายแบบ สมัยต่อมามีการแต่งเนื้อร้องเพิ่มเข้าไป เพื่อเป็นการบรรยายความรู้สึกที่ต้องจากกันไป โดยใช้บทกวีเดิมเป็นหลัก และขับร้องสามเที่ยว ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างท่อนที่สาม กับตอนลงท้าย มาให้ดูเพียงท่อนเดียว คือ
(三)渭成朝雨浥輕塵,客色青青柳色新,勸君更盡一
杯酒,西出陽關無故人,芳草遍如茵。旨酒,旨酒,未飲心已先醇。載馳駰,載馳駰,何日言旋軒轔?能酌幾多巡,千巡有盡,寸哀難泯,無窮傷悲,楚天湘水隔遠濱。期早托鴻鱗。尺素申,尺素申,尺素頻申如相親,如相親。
(尾)噫!從今一別,兩地相思入夢頻,聞雁來賓。
(สาม) ฝนเมืองเว่ยยามเช้าฝุ่นเปียกชื้น ที่พักแรม ต้นหลิวสีสันใหม่เขียวขจี ขอเชิญท่านดื่มสุราให้หมดอีกถ้วย ไปทางตะวันตกไร้ผู้คุ้นเคย หญ้าสุดขอบฟ้าดุจดั่งปูลาดไว้เต็มไปหมด เหล้าเลิศรส ยังไม่ทันดื่ม ในใจสัมผัสกลิ่นหอมแล้ว (ก็เมาแล้ว) รีบไปเถอะ รีบไปเถอะ บอกด้วยเมื่อไรจะได้กลับมา เหล้าจะกินได้สักเท่าไรกัน ถึงกินเหล้าพันจอก เหล้าก็ยังหมดไปได้ แต่ความทุกข์เพียงน้อยนิดสูญสิ้นยากนัก เศร้าโศกไม่หมดสิ้น น้ำและฟ้าแยกให้ห่างไกลกัน ห่างไกลกันคนละฟากฟ้า คนละฟากฝั่งน้ำ ไม่นานก็จะวานให้หงส์ให้ปลาส่งข่าว บอกข่าว แจ้งข่าวบ่อยๆ จะได้รู้สึกว่าได้เหมือนอยู่ใกล้กัน
(ลงท้าย) โอ้ สองเราจากกันวันนี้ คิดถึงกันก็พบกันได้แต่เพียงในฝัน คอยฟังเสียงห่านป่าบินกลับมาเป็นแขก (บินกลับมาบอกข่าว)
นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีจีนในสมัยใหม่ (ค.ศ. 1911 – 1949) ได้นำบทกวีในวรรณคดีจีนโบราณมาขับร้องโดยแต่งทำนองขึ้นใหม่ เช่น
เพลงลมแห่งฤดูใบไม้ร่วง (秋風詞) นำบทกวีของหลี่ป๋ายมาเป็นเนื้อร้อง
เพลงคนหาปลา (漁歌調) นำบทกวีของหลิ่วจงหยวน (柳宗元) บทกวีที่ชื่อว่า เฒ่าชาวประมง (漁翁) มาเป็นเนื้อร้อง
เพลงกวนซานเย่ว์ (關山月) นำบทกวีของหลี่ป๋ายมาเป็นเนื้อร้อง
ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง เพลงลมแห่งฤดูใบไม้ร่วง (秋風詞) เดิมเป็นบทกวีรูปแบบแบบสาม ห้า เจ็ด (三五七言) บทหนึ่งมีสามบรรทัด บรรทัดละสองวรรค บรรทัดแรกวรรคละสามคำ บรรทัดที่สองวรรคละห้าคำ บรรทัดที่สามวรรคละเจ็ดคำ บทกวีเดิมมีเนื้อหาเพียงสามบรรทัด เมื่อนำมาแต่งเป็นเพลงได้เพิ่มเนื้อร้องท่อนท้ายเข้าไปอีก ดังนี้
秋風清,秋月明,
落葉聚還散,寒鴨栖複驚,
相思相見知何日,此時此夜難為情。
入我相思門知我相思苦。
長相思兮長相憶,短相思兮無窮極。
早知如此絆人心,何如當初莫相識。
ลมฤดูใบไม้ร่วงพัดเบาๆ แสงจันทราส่องสว่าง
ใบไม้ที่ร่วงหล่นรวมแล้วกระจาย เป็ดน้อยขลาดกลัวผวาตกใจ
คิดถึงกันไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้พบกันอีก ในคืนนี้ ขณะนี้แสนปวดใจ
หากเข้ามาในความคิดถึงของฉัน จะรู้ว่าฉันคิดถึงอย่างระทมทุกข์
คิดถึงมานาน คิดถึงมาก คิดถึงชั่วขณะ แต่ก็ไม่มีวันสิ้นสุด
หากรู้ว่าต้องทนทุกข์เช่นนี้ แต่แรกมิควรรู้จักกันเลย
เพลงลมแห่งฤดูใบไม้ร่วง เพลงนี้นับเป็นเพลงจีนโบราณที่แต่งในสมัยหลัง ดังนั้นจึงสามารถบอกรักบอกความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแตกต่างจากขนบโบราณที่จะไม่กล่าวถึงความรู้สึกในใจเกี่ยวกับความรักความคิดถึงของคู่รักได้
ข. เพลงกู่ฉินที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดี
วรรณคดีจีนและดนตรีของจีนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่โบราณ กวีจีนโบราณเป็นผู้มีความรู้และยังเล่นดนตรีได้ ส่วนนักดนตรีก็มักจะเป็นผู้มีความรู้เช่นกัน ดังนั้นทั้งวรรณคดีและดนตรีต่างก็มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกันด้วย ในประวัติดนตรีจีน มีเพลงกู่ฉินหลายเพลงที่มีแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดี เมื่อนักดนตรีอ่านบทกวีแล้วเกิดจินตนาการ หรือมีแรงบันดาลใจให้แต่งเพลงตามเนื้อหาของบทกวี ในประวัติดนตรีจีนมีเพลงกู่ฉินที่ได้รับอิทธิพล หรือมีแรงบันดาลใจจากวรรณคดีมากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเพียง 3 ตัวอย่าง ดังนี้
เพลงกวางร้อง (鹿鳴) เพลงนี้แต่งตามบทกวีใน ซือจิง เสียวหญ่า (小雅) เพลงนี้ใช้มักบรรเลงในงานเลี้ยงสมัยราชวงศ์โจว เป็นการชื่นชมเจ้าภาพที่เลี้ยงรับรองแขกอย่างอุดมสมบูรณ์และสมเกียรติ
เพลงรำพันเมื่อยามห่างไกล (離騷) เพลงนี้แต่งโดย เฉินคังซื่อ (陳康士) นักดีดกู่ฉินในสมัยราชวงศ์ถังตอนปลาย เพลงนี้แต่งเพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีของชวีหยวน (屈原) กวีผู้รักชาติ บทที่ชื่อว่า รำพันเมื่อยามห่างไกล เพลงนี้เป็นการพรรณนาความน้อยเนื้อต่ำใจที่ต้องถูกเนรเทศจากบ้านเกิดเมืองนอนไปไกล เพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับผู้ปกครองบ้านเมือง ชวีหยวนกวีผู้รักชาติในที่สุดกระโดดน้ำในแม่น้ำมี่หลัวเสียชีวิต ประชาชนที่รักและศรัทธาเขาได้นำเรือออกหาศพของเขา แต่ก็ไม่พบ เพื่อมิให้สัตว์ในแม่น้ำกัดกินศพของชวีหยวน ชาวบ้านจึงโยนขนมจ้างลงไปในแม่น้ำ ดังนั้นทุกปีในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน จึงเป็นวันที่ระลึกถึงชวีหยวน เรียกว่า เทศกาลตวนอู่ (端午節) หรือเรียกว่าเทศกาลแข่งเรือมังกร หรือเทศกาลขนมจ้าง บางที่เรียกว่า เทศกาลกวี (詩人節) ในเทศกาลนี้จะมีเทศกาลแข่งเรือมังกร และมีการกินขนมจ้างเป็นประจำทุกปี
เพลงกลับไปเถิด (歸去來辭) เพลงนี้แต่งขึ้นเพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีชื่อ กลับไปเถิด ของ เถายวนหมิง ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตการรับราชการ และเบื่อการแก่งแย่งชิงดีในสังคม เถายวนหมิงตัดสินใจลาออกจากราชการ แล้วกลับไปอยู่ในชนบท อยู่ท่ามกลางธรรมชาติสงบ และบริสุทธิ์ มีความสุขกับการทำไรทำนา อ่านหนังสือ เขียนบทกวี และเล่นดนตรี
นอกจากนี้ยังมีกวีที่แต่งเพลงกู่ฉินด้วย ได้แก่ หร่วนจี๋ กวีสมัยราชวงศ์เว่ย เพลงที่หร่วนจี๋แต่ง คือ เพลงเมาสุราราวกับเสียสติ (酒狂) เพลงนี้มีชื่อเสียงมาเป็นเวลาพันกว่าปี เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเป็นการบรรยายลักษณะท่าทางของคนเมาสุราที่ไม่สามารถจะครองสติได้อย่างปกติ
บทสรุป
จากการศึกษาวิจัยกู่ฉินในวรรณคดีจีน นอกจากจะทำให้เข้าใจถึงสภาพของสังคม บทบาทของวรรณคดี ในประวัติศาสตร์จีนแล้ว ยังทำให้เข้าใจแนวคิดของคนจีนในสมัยต่างๆ ผลของการวิจัยทำให้ทราบว่า กู่ฉินมีบทบาทในผลงานการประพันธ์ของวรรณคดีจีนทุกยุคทุกสมัย ส่วนผลงานที่เกี่ยวกับแสดงกู่ฉิน ทั้งการบรรเลงและการขับร้อง ปรากฏว่ามีผลงานทางวรรณคดีช่วยส่งเสริม และสนับสนุน ทำให้คีตศิลป์ของเครื่องดนตรีชนิดนี้มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทั้งในด้านเนื้อร้องของบทเพลง และทำนองของบทเพลง กล่าวคือ ผลงานทางวรรณคดีได้รับอิทธิพลจากดนตรี และในขณะเดียวกันผลงานทางด้านดนตรีก็ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีด้วย
บรรณานุกรม
Stephen Addiss. The Resonance of The Qin in East Asian
Art.New York : China Institute Gallery, 1999
http://chinese.pku.edu.cn/cgi-bin/tanglibrary.exe(2003, May19)
http://edu.ocac.gov.tw/culturechinese/vod04_11.htm (2003, August3)
http://www.chinesepage.com/big5/big5-poetry.htm (2003, September22)
http://www.chinese-poems.com(2003, July 20)
http://www.columbia.edu/itc/eacp/asiasite.htm (2003, July 20)
http://www.ss.net.tw/book/book/catbook/poem/wailsong.htm (2003, June 7)
http://www.wenyi.com (2003, March11)
蔡中德 中國音樂美學史 北京:人民音樂出版社 1995
曹雪芹 紅樓夢 北京:文化藝術出版社 1990
丁如明 鐘鼓管弦 上海:上海古籍出版社 1994
古詩三百首 大連:大連出版社 1994
江增慶 中國文學史 臺北:國立編譯館 1995
劉再生 中國音樂史話 上海:上海文藝出版社 1995
伍國棟 中國古代音樂 北京:商務印書館 1991
歐陽海燕 樂文化 北京:中國經濟出版社 1995
彭慶生 唐代樂舞書畫詩選 北京:北京語言學院出版社 1988
宋詞鑒賞詞典 北京:燕山出版社 1989
宋詞三百首 大連:大連出版社 1994
許健 琴史初編 北京:人民音樂出版社 1982
汪榕培 譯注 詩經(中英文版)沈陽:遼寧教育出版社 1995
王實甫 西廂記 長沙:湖南人民出版社 1995
王曙 唐詩故事 臺北:貫雅文化事業有限公司 1980
元曲三百首 大連:大連出版社 1994
袁行霈 中國詩歌藝術研究 北京:北京大學出版社 1985
จินตนา ธันวานิวัฒน์ กู่ฉินในสายธารอารยธรรมจีนใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ 2545
ทวีป วรดิลก ประวัติศาสตร์จีน กรุงเทพ : สุขภาพใจ 2542
ทองแถม นาถจำนง กวีเต๋าเถายวนหมิง กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ ก.ไก่, 2545
พระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี , สมเด็จ. หยกใสร่ายคำ กรุงเทพมหานคร : ชมรมเด็ก , 2541

------------------------------------


บทความนี้ตีพิมพ์ใน วารสาร อักษรศาสตร์ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม ธันวาคม 2546) : 138 181.