พบกับท่านผู้ฟังทุกวันเสาร์ เวลา 15.00-16.00 น. สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM101.5MHz
Saturday, May 22, 2010
หลินสือเฉิง
อาจารย์หลินสือเฉิง นักดนตรีดีดผีผาที่มีชื่อเสียง เกิดเมื่อ ปีคศ. 1922 ที่อำเภอหนานเจียง เมืองเซี่ยงไฮ้ เรียนดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก บรรเลงเครื่องดนตรีจีนได้หลายชนิด ปีคศ. 1956 สอนที่ 中央音乐学院 มีลูกศิษย์ผีผามากมาย เช่น หลิวเต๋อไห่ นอกจากนี้อาจารย์ยังเรียบเรียงตำรา และโน้ตผีผาหลายเล่ม ได้แก่ 《琵琶演奏法》、《琵到曲谱》、《工尺谱常识》
ก่วนผิงหู
อาจารย์ก่วนผิงหู (1897—1967) เป็นนักดนตรีกู่ฉินที่มีชื่อเสียง บรรพบุรุษเป็นชาวซูโจว มณฑลเจ้อเจียง อาจารย์เกิดที่ปักกิ่ง คุณพ่อเป็นจิตรกรวาดภาพจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ชิง อาจารย์ก่วนผิงหูได้เรียนวาดภาพจีน และเรียนกู่ฉินตั้งแต่เด็ก คุณพ่อของอาจารย์ก่วนผิงหูเสียชีวิตตั้งแต่อาจารย์ยังเด็ก ดังนั้นต่อมาอาจารย์จึงได้ไปศึกษาการวาดรูปจีน เน้นการวาดรูปดอกไม้ และรูปคน เชี่ยวชาญการวาดภาพจีนแบบกงปี่ ต่อมาอาจารย์ได้สอนวาดรูปที่ 北平京华美术专科学校
นอกจากนั้น อาจารย์ก่วนผิงหูได้เรียนกู่ฉินจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายสำนักในยุคนั้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบเฉพาะตัว เรียกว่า “管派”หรืออาจเรียกว่า สำนักอาจารย์ก่วน อาจารย์ก่วนผิงหูร่วมอาจารย์หลายท่านทำกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดตั้งสมาคมกู่ฉินในกรุงปักกิ่ง อาจารย์สอนกู่ฉิน 北京汉学专修馆、国乐传习所、北平国立艺术专科学校 ในปี 1952 สอนกู่ฉินที่ 中央音乐学院民族音乐研究所นอกจากนี้ยังทำการศึกษาวิจัยและเรียบเรียงโน้ตกู่ฉิน
อาจารย์ก่วนผิงหูนอกจากจะเป็นศิลปินบรรเลงกู่ฉินที่มีชื่อเสียง อาจารย์ยังชำนาญในการทำกู่ฉิน และซ่อมกู่ฉินด้วย กู่ฉินในพิพิธภัณฑ์กู้กง ไม่ว่าจะเป็น 大圣遗音 กู่ฉินของราชวงศ์ถัง หรือ龙门风雨 กู่ฉินของราชวงศ์หมิง อาจารย์เป็นผู้ซ่อมจนสามารถบรรเลงได้อีกครั้ง
ตามคำอธิบายของซีดีนี้กล่าวว่า ในปี 1977 บนยานอวกาศของสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมและบันทึกเสียงเพลงที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เพลงสายน้ำไหล หรือ 流水ที่บรรเลงโดยอาจารย์ก่วนผิงหู ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
หลิวเทียนหัว
อาจารย์หลิวเทียนหัว ชาวเมืองเจียงอิ่น มณฑลเจียงซู ศิลปินชั้นครูในวงการดนตรีประจำชาติจีน เป็นทั้งนักดนตรี นักประพันธ์ และนักการศึกษาด้านดนตรี มีความสามารถทางการดนตรีทั้งดนตรีจีนและดนตรีตะวันตก ชำนาญทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ
อาจารย์หลิวเทียนหัวเรียนดนตรีสากลในโรงเรียนทหาร ในปี 1915 ตกงาน เริ่มเรียนซอเอ้อร์หู และเริ่มแต่งเพลง 《病中吟》รำพึงในยามป่วยไข้
ต่อมาได้สอนดนตรีที่รร.มัธยม และที่รร.นี้ อาจารย์หลิวเทียนหัวได้ตั้งวงดนตรีเจียงหนานซือจู๋ และวงโยธวาทิต ต่อมาได้เรียนซอเอ้อร์หูกับอาจารย์โจวเส่าเหมย เรียนผีผาทางสำนักจงหมิงกับอาจารย์เสิ่นปี่โจว เรียนกู่ฉินกับอาจารย์เกาเหรินที่มณฑลหูหนาน
ในปี 1921 อาจารย์หลิวเทียนหัว ได้ร่วมงานกับวงดนตรีไคหมิงที่เซียงไฮ้ และตั้งวง ดนตรีพื้นบ้านที่บ้านเกิด ในปี 1922ได้ไปเป็นที่ปรึกษาของชมรมดนตรีประจำชาติจีนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสอนดนตรีที่วิทยาลัยครูสตรีปักกิ่งและที่ วิทยาลัยศิลปะ
อาจารย์หลิวเทียนหัวได้มีโอกาสเรียนไวโอลิน และทฤษฏีดนตรีตะวันตกกับอาจารย์ชาวรัสเซีย นอกจากนี้อาจารย์หลิวเทียนหัวยังทำวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านของจีน ได้เชิญศิลปินพื้นบ้านมาบันทึกเสียง แล้วทำการวิจัย บันทึกโน้ต
ปี 1932 อาจารย์หลิวเทียนหัวเสียชิวิตด้วยโรคระบาดไข้อีดำอีแดง หรือไข้ผื่นแดง ขณะที่ไปทำงานภาคสนามเก็บข้อมูลที่เทียนเฉียว กรุงปักกิ่ง
เริ่นถงเสียง - สั่วน่า
อาจารย์เริ่นถงเสียง ศิลปินบรรเลงสั่วน่า เป็นชาวเมืองเจียเสียง มณฑลซานตุง เกิดปีคศ 1927 ได้รับเชิญให้ไปแสดงในต่างประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ เยอรมัน อินเดีย พม่า ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
สั่วน่ามีเสียงแหลม สูง ใช้บรรเลงเดี่ยว หรือบรรเลงร่วมกับวงดนตรี สั่วน่ายังใช้บรรเลงในวงดนตรีประกอบการแสดงงิ้ว สั่วน่ามักใช้ในการบรรเลงในเทศกาลรื่นเริง เช่น ในงานเทศกาลตรุษสารท หรืองานมงคลต่าง ๆ
สั่วน่ามีน้ำเสียงที่แสดงความสนุกสนานร่าเริง จึงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้าน จึงมักจะมีผู้นำไปบรรเลงในวงดนตรีพื้นเมืองในถิ่นต่าง ๆ
ดนตรีแต้จิ๋ว
ดนตรีแต้จิ๋ว เป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจีนประเภทหนึ่ง และเป็นวงดนตรีพื้นเมืองแถบแต้จิ๋วซานโถว มณฑลกวางตุ้ง
นอกจากนี้ยังแพร่หลายในทางตอนใต้ของมณฑลฟู่เจี้ยน ฮ่องกง ไต้หวัน และทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวแต้จิ๋วอพยพไปอาศัยอยู่ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย
เดิมดนตรีแต้จิ๋วเป็นดนตรีที่เล่นกันสนุกๆ เป็นงานอดิเรกในหมู่ชาวแต้จิ๋ว ต่อมาพัฒนาเป็นศิลปะท้องถิ่น และนำไปแสดงเป็นทางการทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค จนถึงระดับประเทศ นอกจากนี้ยังไปแสดงในต่างประเทศ ทั้งในเอเซีย อเมริกา และยุโรป
ดนตรีแต้จิ๋วมีลักษณะเฉพาะ ท่วงทำนองเรียบง่าย ฟังสบายๆ เครื่องดนตรีสำคัญในวงดนตรีแต้จิ๋วได้แก่ ซอเอ้อร์เฉียน ซอเอ้อร์หู หยางฉิน(ขิมจีน) นอกจากนี้ยังมีเครื่องตี ที่เป็นเครื่องหนัง เครื่องโลหะต่างๆ
วงดนตรีแต้จิ๋ว มี 5 แบบ ได้แก่ วงเครื่องตี(เครื่องหนังและเครื่องโลหะ) วงเครื่องสาย วงเครื่องเป่า(เครื่องลม) วงเครื่องสายขนาดเล็ก วงดนตรีในวัดและศาลเจ้า (ศาสนา)
Sunday, May 16, 2010
กานโป๋หลิน
กานโป๋หลิน (甘伯林)เป็นศิลปินตาบอด รองศาสตราจารย์ แห่ง 吉林艺术学院 นักดนตรีบรรเลงเอ้อร์หู เป็นชาวฉางซา มณฑลหูหนาน เมื่อเด็กๆป่วยหนักจนทำให้ตาบอด พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็กเขาเติบโตในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เรียนซอเอ้อร์หู ขลุ่ย หยางฉินในรร.สอนคนตาบอดตั้งแต่เด็ก
อาจารย์กานโป๋หลินมีผลงานบันทึกเสียงมากมาย และได้รับเชิญให้ไปแสดงในต่างประเทศทั้งในยุโรป และอเมริกา
อาจารย์กาน โป๋หลินได้รับฉายาว่าเป็น อาปิ่งสมัยปัจจุบัน ( 中国当代阿炳 -- 华彦钧)
Thursday, May 13, 2010
หลิ่วฉิน
หลิ่วฉิน เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายในมณฑลซานตุง อานฮุย และเจียงซู ที่เรียกว่า หลิ่วฉิน เพราะทำมาจากไม้หลิ่ว หรือในภาษาไทยเรียกว่า ต้นหลิว ลำตัวของหลิ่วฉินมีรูปร่างคล้ายกับใบของต้นหลิ่ว บางครั้งจึงเรียกว่า พิณรูปใบหลิว
หลิ่วฉิน ลักษณะคล้ายกับผีผา แต่มีขนาดเล็กกว่า วิธีการดีดก็คล้ายกัน แต่หลิ่วฉินดีดด้วยไม้ดีด ซึ่งเป็นแผ่นบาง ๆ เล็ก ๆ หลิ่วฉินมี 3 – 4 สาย ยาวประมาณ 65 ซม. มีผิ่น 24 – 28 อัน เดิมใช้สายไหม หลิ่วฉินมีเสียงสูง ดังกังวาน และเป็นเครื่องดนตรีเสียงสูงที่สำคัญในวงดนตรีพื้นเมืองของจีน
Thursday, May 6, 2010
วงดุริยางค์จีน
การผสมวง และประเภทของวงดนตรีจีน
การผสมวงของวงดนตรีจีน อาจแบ่งย่อยตามประเภทของเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงร่วมกัน ดังนี้
วงเครื่องเป่า หรือในภาษาจีนเรียกว่า ก่วนเย่ว์ วงเครื่องเป่าเป็นการผสมวงจากเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ได้แก่ เซิง ตี๋จื่อ ก่วนจื่อ สั่วน่า
วงเครื่องสาย หรือในภาษาจีนเรียกว่า เสียนซัว วงเครื่องสายเป็นการผสมวงจากเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ทั้งเครื่องดีดและเครื่องสี เช่น กู่เจิง ผีผา ซอเอ้อร์หู หยางฉิน หลิ่วฉิน วงดนตรีประเภทเครื่องสายที่มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมแพร่หลาย ได้แก่ เช่น วงเครื่องสายของกวางตุ้ง วงเครื่องสายแต้จิ๋ว วงดนตรีประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะบรรเลงในงานเลี้ยงที่จัดในอาคาร หรือห้องโถงที่มีบริเวณไม่กว้างนัก
ชุย แปลว่า เป่า ในที่นี้หมายถึง เครื่องเป่า ได้แก่ ปี่สั่วน่า ขลุ่ย
ต่า แปลว่า ตี ในที่นี้หมายถึง เครื่องตี ได้แก่ ฆ้อง โหม่ง กลองประเภทต่าง ๆ
ชุยต่า จึงหมายถึง วงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องเป่าและเครื่องตี
วงเครื่องเป่าและเครื่องตี เป็นการผสมวงจากเครื่องดนตรีหลายชนิด ใช้บรรเลงประกอบการแสดงงิ้ว และมักใช้แสดงในเทศกาลตรุษสารท งานมงคล หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ
วงดนตรีประเภทนี้เสียงจะดัง อึกทึก ท่วงนำนองร่าเริง มีชีวิตชีวา เป็นวงดนตรีพื้นบ้าน และมักจะบรรเลงในชนบท วงดนตรีประเภทนี้จะมีในทุกภาคของประเทศจีน ในแต่ละที่ก็จะมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว วงเครื่องเป่าและเครื่องตีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมกัน ได้แก่ วงดนตรีชุยต่าของมณฑลส่านซี (ซีอาน) และวงดนตรีชุยต่าของมณฑลซานซี
วงเครื่องสายและเครื่องเป่า หรือในภาษาจีนเรียกว่า ซือจู๋ วงเครื่องสายและเครื่องเป่าเป็นการผสมวงจากเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เช่น กู่เจิง ผีผา ซอต่าง ๆ หยางฉิน และเครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย วงเครื่องสายและเครื่องเป่า เช่น วงดนตรีเจียงหนานซือจู๋
วงดุริยางค์จีน หรือในภาษาจีนเรียกว่า หมินจู๋ก่วนเสียนเย่ว์ เป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีทุกประเภทคือ ดีด สี ตี เป่า ได้แก่ เครื่องสาย เช่น เครื่องดีด กู่เจิง ผีผา หรวน เครื่องสี เช่น เอ้อร์หู เกาหู จงหู และเครื่องสายใช้ตี คือ หยางฉิน เครื่องตี ได้แก่ เครื่องหนัง เครื่องโลหะ และเครื่องไม้ เครื่องเป่า เช่น ตี๋จื่อ สั่วน่า เซิง
ปัจจุบันในวงมหาดุริยางค์จีนมีการผสมผสานโดยการนำเครื่องดนตรีตะวันตกมาร่วมบรรเลงในวงดุริยางค์จีน เช่น นำเซลโล่ (Cello) เบส (Bass) มาร่วมบรรเลงในวงดนตรีจีนและยังมีการจัดวงแบบวงดนตรีซิมโฟนีออเครสต้า นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานระหว่างดนตรีตะวันตกกับตะวันออก โดยมีการนำเครื่องดนตรีจีนไปผสมในวงดนตรีซิมโฟนีออเครสต้าของตะวันตก เช่น นำกู่ฉิน หรือกู่เจิง ไปบรรเลงเดี่ยวในวงออเครสต้า ทำให้ดนตรีจีนมีความเป็นสากลมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังคงรักษาลักษณะเด่นเฉพาะตัวของความเป็นชนชาติจีน เป็นคนเอเชียและเป็นชาวตะวันออกไว้ด้วย
Subscribe to:
Posts (Atom)