หูฉิน หมายถึง ซอ หรือ เครื่องสี
หู เดิมหมายถึง ชนชาตินอกประเทศจีนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
ต่อมาคำว่า หู หมายถึง สิ่งที่มาจากต่างประเทศ
ฉิน หมายถึง เครื่องดนตรี
ดังนั้น หูฉิน จึงหมายถึง เครื่องดนตรีต่างประเทศ
การที่เรียกซอว่า หูฉิน ก็เพราะซอเดิมเป็นเครื่องดนตรีที่นำมาจากดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ซอนับเป็นเครื่องดนตรีที่มีกำเนิดหลังสุด ในบรรดาเครื่องดนตรีจีน
ต่อมาหูฉิน หรือซอได้พัฒนาเป็นซอจีนประเภทต่าง ๆ ของจีน เช่น เอ้อร์หู จิงหู เกาหู ป่านหู
ป่านหู เป็นเครื่องสายใช้สี หรือซอชนิดหนึ่ง แต่มีลักษณะแตกต่างไปจากซอทั่วไป กล่าวคือ ซอจีนโดยทั่วไปกระบอกซอจะทำจากไม้ หรือไม้ไผ่ และที่กระบอกซอจะขึงด้วยหนังสัตว์ เช่น หนังงู หนังวัว แต่ป่านหูกระบอกซอทำมาจากไม้เนื้อแข็ง หรือกระโหลกมะพร้าว และที่หน้ากระบอกซอ หรือกระโหลกซอจะใช้แผ่นไม้บาง ๆ ปิดไว้ จึงเรียกว่า ป่านหู คำว่า ป่าน มาจากคำว่า มู่ป่าน ซึ่งหมายถึง แผ่นไม้ ป่านหู มี 2 สาย ป่านหูมักใช้บรรเลงประกอบการแสดงงิ้ว
จงหู เป็นซอที่ปรากฏมีหลังสุดในบรรดาซอจีนทั้งหลาย สร้างขึ้นมาโดยอาศัยแบบของเอ้อร์หูเป็นพื้นฐาน แต่กระบอกซอจะใหญ่และหนากว่าเอ้อร์หู ดังนั้นจงหูจึงมีเสียงที่ทุ้มกว่าเอ้อร์หู มี 2 สาย นิยมแพร่หลายในแถบมณฑลซานตุง
อาจารย์หลิวหมิงหยวน (1931~1996)นักดนตรีจีน ผู้เชี่ยวชาญสีซอหูฉิน (ป่านหู จงหู เกาหู) ชาวเทียนจิน มณฑลเหอเป่ย อายุ 6 ขวบ เริ่มเรียนสีซอป่านหู จิงหู อายุ 7 ขวบ เปิดแสดงการบรรเลงการสีซอ ปี 1957 ได้รับรางวัลเหรียญทอง การประกวดการแสดงดนตรีจีนพื้นเมืองของเยาวชน ครั้งที่ 6 ปี 1989 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำครั้งที่ 1
No comments:
Post a Comment